ขอเชิญสาธุชน
ร่วมบูรณะอุโบสถ
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
ขอเชิญสาธุชน ร่วมบูรณะอุโบสถวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อุโบสถ มีความสำคัญดุจหัวใจของวัดวาอาราม เพราะเป็นสถานที่ร่วมแสดงความสามัคคีของภิกษุสงฆ์ ในการร่วมกันรับฟังพระปาติโมกข์ในทุกกึ่งเดือน เพื่อทบทวนพระวินัยที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้แก่สงฆ์ทั้งปวง อุโบสถยังเป็นที่กำเนิดขึ้นแห่งเหล่าพุทธบุตร ดังมีพระพุทธบัญญัติไว้ ซึ่งสถานที่อื่นไม่อาจกระทำได้ ดังนั้นอุโบสถจึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง…การทำนุบำรุงให้อุโบสถยังคงแข็งแรงสง่างาม เพื่อส่งเสริมให้งานพระพุทธศาสนาได้ดำเนินสืบต่อไปนานเท่านานนั้น ย่อมเป็นมหาอานิสงส์แก่ผู้เป็นเจ้าภาพร่วมซ่อมร่วมทำนุบำรุงให้อุโบสถยังแข็งแรงสืบไป… อุโบสถเกิดการทรุดตัวลงบริเวณโดยรอบ ทำให้เกิดการแตกร้าว รอบบริเวณ ยกเว้นตัวอาคารที่ไม่เกิดการทรุดตัว ทางคณะสงฆ์จึงเร่งดำเนินงานบูรณะอุโบสถ ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัย แก่พุทธบริษัทที่มาบำเพ็ญกุศล ซึ่งอุโบสถวัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามหลังนี้ ได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยดีเด่น” เมื่อปี พ.ศ.2539 จึงขอเชิญชวนสาธุชนทุกท่าน ร่วมบูรณะอุโบสถ สามารถทำบุญโดยตรงกับทางวัด หรือผ่านช่องทางออนไลน์
งบประมาณการบูรณะ 3,500,000 บาท
ธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 422-0-40866-2
ชื่อบัญชี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม (เพื่อการบูรณะอุโบสถ)
แจ้งความประสงค์ขอรับอนุโมทนาบัตร
ส่งสลิปการโอนไปทางไลน์
ธนาคารกรุงเทพ
เลขบัญชี 422-0-40866-2
ชื่อบัญชี วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม (เพื่อการบูรณะอุโบสถ)
แจ้งความประสงค์ขอรับอนุโมทนาบัตร
ส่งสลิปการโอนไปทางไลน์
ความหมายอุโบสถ
อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะ ใช้เพียงพื้นที่โล่ง ๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง“สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายใน พระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้าง ขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมี การประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
คำว่า อุโบสถ มาจากรากศัพท์ว่า อุป + วส + อถ ปัจจัย โดยมีการแปลงรูปตามภาษาบาลีดังต่อไปนี้
“อุโบสถ” บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)-ป กับ ว-(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)
: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงก์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่”
และยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง
- สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์
- การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รักษาอุโบสถ และรักษาอุโบสถศีล
- วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัส วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถกัน เรียกว่า วันอุโบสถ
- วันที่พระสงค์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่าวันอุโบสถ
- การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ
- โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา
- โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
- โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา
ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมาก่อน
** เดิมทีมีผู้อธิบายว่า อุโบสถ มาจากคำว่า อุป + โอสถ แล้วแปลว่า เข้าถึงยาแก้โรค หรือ เข้าไปใกล้ยารักษาโรค ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและไม่ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี
ที่ถูกคือ อุป + วสฺ ธาตุ + อถ ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น อุโบสถ ดังอธิบายข้างต้นแล้ว